วันอังคารที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2554

เครือข่ายสังคม (Social Networking)

เครือข่ายสังคม (Social Networking)
หากลองพิจารณาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525 อธิบายว่า สังคม คือ คนจำนวนหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันตามระเบียบกฎเกณฑ์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน

ส่วน Wikipedia เองก็บอกว่า สังคม เป็นการอยู่รวมกันของสิ่งมีชีวิต สังคมของมนุษย์เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจร่วมกันไม่ว่าจะในด้านใด เช่น ประเทศ จังหวัด และอื่นๆ และมักจะมีวัฒนธรรม หรือประเพณีรวมถึงภาษา การละเล่นและอาหารการกินของตนเองในแต่ละสังคม

ซึ่งหากจะสรุปง่ายๆ สังคม ก็คือ การที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน มารวมกลุ่มกันในสถานที่ที่ตอบรับกับความสนใจของเขา และสร้างความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เช่น สังคมไฮโซก็จะเป็นกลุ่มคนที่ชอบกระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้าที่มีราคาแพงเป็นหลักแสนขึ้นไป อีกทั้งต้องมาเจอกันตามสถานที่ไฮโซๆ เท่านั้น เช่นงานเลี้ยงราตรีสโมสร หรือตามงานสังคมต่างๆ จะไม่มีการไปนัดพบเจอกันตามจตุจักรอย่างแน่นอน หรือกลุ่มเพื่อชีวิต ก็จะเป็นกลุ่มคนที่มีความชอบในเพลงเพื่อชีวิต แน่นอนว่าต้องเป็นพี่ๆ วงคาราบาว คงจะไม่มีใครที่หันไปชอบกอล์ฟ-ไมค์ ซักเท่าไร ซึ่งสถานที่ที่น่าจะไปเจอกันก็คงหนีไม่พ้นร้านเหล้าเพื่อชีวิตอย่าง เยอรมันตะวันแดง หรือตามงาน Concert ของศิลปินที่เค้าชอบ และแน่นอนว่าสไตล์การแต่งตัวก็ต้องเป็นแนวเซอร์ๆ เสื้อยืด กางเกงยีนส์ เป็นต้น

แต่นอกจากนี้ 1การจะตีความคำว่า สังคม ก็ยังเป็นเรื่องที่คลุมเครืออยู่ หรือที่เราเรียกว่าเป็น Fuzzy Concept (แนวความคิดที่คลุมเครือ) เพราะคุณลักษณะหรือความสัมพันธ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก วัดยาก อย่างบางที เราก็ไม่สามารถตีความได้ว่า สิ่งทีชอบจะสอดคล้องไปกับบุคลิกภาพของคนๆ นั้นทั้งหมด อย่างเช่น คนที่ชอบเรื่องราวทางด้านเทคโนโลยี อาจจะเป็นลุงแก่ๆ ที่แต่งตัวมอซอๆ แต่กลับอ่านหนังสือเกี่ยวกับจานดาวเทียม เป็นต้น
1พัฒนาสังคม...พัฒนาอะไร, ขนิฏฐา กาญจนรังษีนนท์

ดังนั้น การตีความคนจากภายนอก เพื่อบ่งบอกว่าเขาเป็นคนที่อยู่ในสังคมอะไร มีความชอบอะไร จึงอาจจะไม่ใช่เรื่องที่สำคัญอีกต่อไป เพราะการที่คนเรามีความชอบอะไรที่เหมือนๆ กันอาจจะไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเป็นใครอีกต่อไป

ซึ่งสาเหตุนี้ ก็ตอบรับกับโลกในทุกวันนี้ ที่การสร้างความสัมพันธ์ทางด้านสังคม กลับไม่ได้เป็นแค่การมาพบปะพูดคุย มองเห็นรูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพหรือทำกิจกรรมร่วมกันแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลับอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาทางด้านสังคมให้เกิดขึ้น จนเราเรียกกันติดหูว่า สังคมเครือข่าย (Social Network) หรือสังคมออนไลน์นั่นเอง


สังคมเครือข่าย เป็นสังคมที่เกิดขึ้นบนโลกไซเบอร์ ซึ่งมีความกว้างใหญ่ไพศาล ไม่สิ้นสุด ซึ่งสังคมที่เกิดขึ้น ก็คือ เครือข่ายหนึ่งของโลก ที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันในรูปแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ทางด้านความคิด เงินทอง มิตรภาพ การค้า ซึ่งอธิบายได้ว่า สังคมเครือข่าย ก็คือ แผนผังความเกี่ยวข้อง ที่มาจากความสนใจในรูปแบบต่างๆ กัน มารวมเข้าไว้ด้วยกัน เช่น กลุ่มเพื่อนสมัยอนุบาล เพื่อนประถม กลุ่มคนรักกล้อง กลุ่มคนที่สะสมตุ๊กตาไบรท์ กลุ่มแฟนคลับของศิลปินเกาหลี เป็นต้น โดยมี Website ที่ได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักกันดี เป็นตัวกลางเชื่อมต่อความชอบของคนแต่ละกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ได้กล่าวถึง 2Social Networking ว่ามีจุดเริ่มต้นจากเว็บ Classmates.com (1995) และเว็บ SixDegrees.com (1997) ซึ่งเป็นเว็บที่จำกัดการใช้งานเฉพาะนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนเดียวกัน เพื่อสร้างประวัติ ข้อมูล ติดต่อสื่อสารส่งข้อความ และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สนใจร่วมกันระหว่างเพื่อนในลิสต์เท่านั้น ต่อมาเว็บ Epinions.com (1999) ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของ Jonathan Bishop ได้เพิ่มส่วนของการควบคุมเนื้อหาด้วย
2วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตัวผู้ใช้เอง และสามารถติดต่อถึงกันได้ไม่เพียงแต่เพื่อนในลิสต์เท่านั้น นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Social Networking ทั้งหลายที่ก่อกำเนิดต่อมา เช่น MySpace, Google และ Facebook เป็นต้น แต่ดูเหมือนว่า Facebook จะมาแรงกว่าเพื่อนด้วยการเพิ่มแอพพลิเคชั่นต่างๆ มากมายในปี 2007 แม้แต่ Starbuck ก็ยังขอมีส่วนร่วมในการโฆษณา และทำการตลาดให้กับสินค้าด้วยการสร้าง Widget สำหรับผู้ใช้ Facebook ด้วยการส่งกาแฟเมนูต่างๆ ให้กับเพื่อนในเครือข่าย และยังเป็นพื้นที่ที่หลายแบรนด์ดังระดับโลกหมายปองจะขอเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของ Social Network Website นี้ มาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต จาก Web 1.0 มาสู่ “Web 2.0” ซึ่งจุดเด่นของ Web 2.0 ก็คือ การที่ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตได้เอง โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นทีมงานหรือผู้ดูแลเว็บไซต์ ซึ่งเราเรียกว่า User Generate Content ซึ่งข้อดีของการที่ผู้ใช้เข้ามาสร้างเนื้อหาได้เองนี้ ก็ทำให้มีการผลิตเนื้อหาเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลายของมุมมองความคิด เพราะจากเดิมผู้ดูแลจะเป็นคนคิด และหาเนื้อหามาลงแต่เพียงกลุ่มเดียว นอกจากนี้ ผู้ใช้งานเอง ยังเป็นผู้กำหนดคุณภาพของเนื้อหา โดยการให้คะแนนว่าเนื้อหาใดที่ควรอ่าน หรือเข้าไปเรียนรู้

ตัวอย่างพื้นฐานของ Web 2.0 ก็ได้แก่ Webboard, BLOG และอื่นๆ ทีเราพบเห็น ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ดูแล ว่าต้องการนำเทคโนโลยีด้านใดไปใช้ ตัวอย่าง Web 2.0 ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็คือ Wikipedia ซึ่งเป็นสารานุกรม Online ขนาดใหญ่ที่สุด โดยเนื้อหาทั้งหมดใน Wikipedia ถูกสร้างโดยผู้ใช้เช่นพวกเรา ซึ่งใน Wikipedia ไม่ว่าใครก็สามารถสร้าง และปรับปรุงเนื้อหาอย่างไม่มีขีดจำกัด โดยความถูกต้อง เที่ยงตรงของ Wikipedia ได้รับการประเมินว่าไม่แพ้ Britannica ซึ่งเป็นสารานุกรมแบบเก่าเลย ทั้งนี้ ในปัจจุบัน Wikipedia ได้รวบรวมบทความภาษาอังกฤษไว้มากกว่า 1.3 ล้านบทความ

Web 2.0 ทำให้ผู้ใช้ที่มีความสนใจในเรื่องต่างๆ มีพื้นที่สำหรับตัวเอง ลองพิจารณาถึงการสร้างและเผยแพร่ เนื้อหาที่ไม่มีค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับสื่อที่เป็นวัตถุ เช่น กระดาษหรือการตีพิมพ์เป็นเอกสาร ทำให้การสร้างและเผยแพร่เนื้อหา บนอินเทอร์เน็ตปราศจากข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ถ้าไม่นับเวลาที่เสียไป เพราะนั่นถือว่าเป็นทรัพยากรที่ผู้ใช้ยินดีสูญเสียให้กับความชอบของตนเอง

นอกจากเรื่องการประหยัดทรัพยากรแล้ว การเข้าถึงสิ่งที่ผู้ใช้เผยแพร่ก็ทำได้ง่าย เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเข้าถึง Website ต่างๆ ที่ต้องการแล้ว และหากผู้ใช้สร้างเนื้อหาที่มีคุณค่า จนได้รับความนิยมนั้น ชื่อเสียงที่ได้จากการสร้างเนื้อหานั้นก็สามารถแปลงเป็นมูลค่าทางการเงินได้

นอกจากผู้ใช้จะมีบทบาทในการสร้างเนื้อหาเองแล้ว ผู้คนอื่นๆ ที่เข้ามาดูก็สามารถให้คะแนน และวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อพัฒนาหรือต่อยอดไอเดียเพิ่มเติมได้ อย่างใน Website ของ Digg.com ที่รวบรวมข่าวสาร และสาระน่ารู้ทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งผู้คนก็สามารถเข้ามาแสดงความเห็นต่อเรื่องนั้นๆ ได้ว่ามีประโยชน์ ตรงกับความต้องการหรือไม่

ในบาง Website ยังสามารถให้ระบบจัดการบริหารในบางเรื่องที่อาจจะมีความยุ่งยาก เช่น ให้มีการ Tag รูปภาพของตัวเราเอง หรือคนที่เรารู้จัก ซึ่งระบบจะจดจำข้อมูลที่เราเคยใส่ไว้ และสามารถจัดข้อมูลได้ด้วยตัวมันเอง ตัวอย่างเช่น Flickr.com ซึ่งเป็น Website สำหรับการเผยแพร่รูปภาพของตัวเราเอง ทำให้เวลาที่เราต้องการค้นหา เพียงแค่ใส่คำค้นสั้นๆ ระบบก็สามารถรวบรวมข้อมูลออกมาให้เราได้ทั้งหมด ซึ่งทำให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

การมีพื้นที่สำหรับ การเผยแพร่ความรู้หรือประสบการณ์ของตัวเราเอง ก็เป็นอีกหนึ่งความสามารถของ Web 2.0 ซึ่งเทคโนโลยีที่เรามักจะพบเห็นกันบ่อยก็คือ BLOG ซึ่งเปรียบได้กับเป็น Website สำเร็จรูปส่วนตัวของเราเอง เพียงแค่เราสมัครใช้บริการ ก็สามารถมีสิทธิเข้าไปเขียนข้อความต่างๆ ลงไปใน Website นั้นๆ ได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติสื่อต่างๆ เพราะ BLOG เปรียบเหมือนโรงพิมพ์ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ใครอยากอ่านก็เข้ามาอ่าน ไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนกัน ซึ่งในปัจจุบันเราจะพบว่า Web BLOG หลายๆ ที่กลายเป็นเหมือนห้องสมุดที่รวบรวมเรื่องราวทางด้านวรรณกรรม ไว้มากมาย โดยที่ผู้บริโภค ไม่ต้องไปหาซื้อตามร้านหนังสืออีกต่อไป

สรุปได้ว่า เทคโนโลยี Web 2.0 คือ ระบบที่ผู้ใช้เป็นผู้สร้างและแก้ไขเนื้อหาเอง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่สร้างคนเดียว (BLOG) และเผยแพร่ให้คนอื่นได้อ่าน หรือเนื้อหาสาธารณะที่ทุกคนเข้ามามีส่วนช่วยกันสร้าง อีกทั้งผู้ใช้ยังเป็นผู้กำหนดคุณค่าของเนื้อหาด้วยตนเอง ทำให้เนื้อหาที่ถูกเผยแพร่มีการพัฒนา ปรับปรุงอย่างไม่หยุดนิ่ง และกลายเป็นว่าเกิดการแข่งขันทางด้านการสร้างเนื้อหาที่มีคุณภาพขึ้น เพราะ Website แต่ละที่ ก็จะเริ่มมีการจัดอันดับเนื้อหาความนิยมต่างๆ ด้วย นับได้ว่าเทคโนโลยี Web 2.0 ก็จะเข้ามามีส่วนสนับสนุนต่อการสร้างสรรค์ทางสังคมขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ และเกิดปัญญาขึ้น หรือที่เราจะเรียก “ปัญญาสาธารณะ” นั่นเอง

ดังนั้น หากพิจารณากันให้ดีๆ จะพบว่า การพัฒนา Web 2.0 ขึ้นมา ทำให้ผู้ใช้งานหรือผู้บริโภคกลายเป็นศูนย์กลางของระบบเครือข่าย และสามารถสร้าง รวมทั้งเผยแพร่สิ่งที่ตนเองชอบหรือต้องการได้ โดยไม่จำกัดสื่อ เช่น ข้อความ, บทความ, รูปภาพ, วีดีโอ อีกทั้งผู้ใช้งานยังสามารถสร้างสังคมของตัวเองขึ้นมาได้ หรือที่เราเรียกว่า สังคมเครือข่าย ตามที่ได้อธิบายข้างต้น ซึ่งสังคมที่เกิดขึ้นนี้ ก็ไม่มีข้อจำกัดใดๆ มาขวางกั้นการเป็นสมาชิกของคนในสังคม เพียงแค่คุณมีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แรงจูงใจที่ทำให้เกิดสังคม เครือข่าย
ในปัจจุบัน เราคงพบเห็นสังคมเครือข่าย กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น MySpace, Hi5, หรือFacebook ซึ่งสังคมประเภทนี้ เราเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า สังคมเสมือน “Virtual Communities” โดยการขยายตัวของสังคมประเภทนี้ เป็นไปด้วยความรวดเร็วอย่างสูง เป็นการขยายตัวแบบทวีคูณ อย่างเช่น หากเรารู้จักเพื่อนคนหนึ่ง เราก็จะรู้จักเพื่อนของเพื่อนไปในตัวด้วย และหากเรารู้จักเพื่อนของเพื่อนแล้ว ในอนาคตต่อมาเราก็จะรู้จักเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนอย่างแน่นอน ซึ่งการขยายตัวดังกล่าว เป็นการขยายตัวเหมือนใยแมงมุมที่ขยายตัวออกไปเป็นทอดๆ โยงไปโยงมา

และหากเราลองพิจารณากันแล้ว จะพบว่าการขยายสังคมประเภทนี้ อย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากแรงจูงใจบางอย่าง โดยที่ 3Peter Kollock ได้ให้กรอบจำกัดความเรื่อง แรงจูงใจสำหรับการเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมเครือข่ายนี้ ว่ามีอยู่ด้วยกัน 4 เหตุผล ดังนี้
3ผู้เขียนหนังสือ "The Economies of Online Cooperation: Gifts and Public Goods in Cyberspace"


1. Anticipated Reciprocity ความคาดหวังจากการให้และรับ นั่นคือ การที่ผู้ใช้บางคนได้เข้ามา Contribute และให้ข้อมูล ความรู้บ่อยๆ ก็มีแรงจูงใจมาจาก เขาเองก็อยากที่จะได้ข้อมูล ความรู้อื่นๆ กลับคืนมามากเช่นกัน

ซึ่งเหตุผลนี้ จะพบมากในผู้ใช้ที่เข้ามาใช้งาน Webboard เพราะเมื่อมีคนมา Post ข้อสงสัยใดๆ ก็ตาม ก็มักจะมีผู้ใช้งานบางคนที่เข้ามาตอบคำถาม หรือแสดงความคิดเห็นอย่างรวดเร็ว จนบางครั้ง กลายเป็นที่รู้จักของ Webboard นั้นๆ และเมื่อตัวเขาเองเข้ามาเป็นผู้ Post บ้าง ก็จะมีคนให้ความสนใจ และเข้ามาตอบคำถามให้กับเขาอย่างมากมาย

2. Increased Recognition ความต้องการมีชื่อเสียง และเป็นที่จดจำในสังคมเครือข่ายนั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อเสียง หรือการถูกยกย่องชมเชย และถูกจดจำนั้น ก็คือพื้นฐานเบื้องต้นของการดำรงชีวิต นั่นคือ ความต้องการด้านความรักนั่นเอง

ซึ่งในหลายๆ ครั้ง คนเรามักจะโหยหาความรัก และการยอมรับจากคนในสังคมจริงๆ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว บางทีเราก็ไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก ดังนั้น สังคมเครือข่ายประเภทนี้ ก็มีบทบาทที่เข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ได้ เพราะบางคนเป็นคนพูดไม่เก่ง สื่อสารด้วยภาษาพูดไม่เข้าใจ แต่ในโลกของไซเบอร์แล้ว เขากลับเป็นคนที่เขียนรู้เรื่อง เล่าเรื่องด้วยภาษาเขียนได้ดี ก็ทำให้เขาถูกยอมรับ และแสวงหาการเข้ามาอยู่ในโลกเสมือนนี้มากกว่าการอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง

3. Sense of efficacy ความภาคภูมิใจ เมื่อสิ่งที่เขียนเกิดผลกระทบที่ดีขึ้น แน่นอนว่าเราเองก็คงจะรู้สึกดีไม่น้อย หากสิ่งที่เราคิดขึ้นมา ถูกนำไปใช้สร้างประโยชน์ ทั้งในระดับกลุ่มเล็กๆ หรือในระดับองค์กร

สำหรับหลายๆ คนมักจะติดใจ และกลับเข้ามาในสังคมเครือข่ายนี้อีก ก็เพราะความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากเขาเอง ได้รับการยอมรับ เกิดเป็นความรู้ขึ้น และสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้จริงๆ ซึ่งสิ่งนี้ ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับตัวเขาเองในการเป็นผู้เสนอแนะ Contribute ความรู้ให้กับเพื่อนๆ ในสังคมเครือข่ายต่อไป

4. Sense of Community การมีอารมณ์หรือความรู้สึกร่วมกัน เช่น การแสดงพลังทางการเมือง การรวมตัวเพื่อประโยชน์ในทางสาธารณะ ซึ่งแรงจูงใจทางด้านนี้ ถือได้ว่าเป็นแรงจูงใจที่มีอิทธิพลอย่างสูง เพราะการใช้อารมณ์ในการนำพาให้คนมารวมกลุ่มกัน ก็จะมีแรงผลักดันจากภายในค่อนข้างสูง

ตัวอย่างที่พบเห็น ก็อย่างเช่นการเขียนกระทู้ หรือบทความบางอย่างแล้วไปมีผลกระทบต่อความคิดของคนบางกลุ่ม ก็อาจจะทำให้เกิดการเข้าต่อยอดความคิดเห็นต่างๆ จากหนึ่งคนเป็นสองคนเป็นสามคน จนในที่สุดก็เป็นหลายร้อยคน

ดังนั้น สรุปแล้วจากแรงจูงใจทั้ง 4 ด้าน จึงพอสรุปได้ว่า คนจะเข้ามามีส่วนร่วมในสังคมเครือข่ายนั้น เหตุผลส่วนใหญ่ก็มาจากแรงจูงใจ จากภายในจิตใจของผู้ใช้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นความต้องการการยอมรับความภูมิใจ ความคาดหวังต่างๆ หรือแม้กระทั่งการใช้อารมณ์ร่วมดังนั้น การจะทำให้สังคมเครือข่ายนั้น มีความน่าอยู่ และเติบโตได้นานๆ คนในสังคมก็ควรจะรู้จักพื้นฐานของการให้และรับ (Give & Take) การแบ่งปัน (Sharing & Contribution) ซึ่งจะช่วยให้สังคมเป็นสังคมเครือข่ายที่ก่อประโยชน์ให้กับคนที่เข้ามาใช้จริงๆ



ประเภทของสังคมเครือข่าย
สังคมเครือข่ายในปัจจุบัน มีอยู่มากมายหลากหลาย Website อย่างที่เรารู้จักกันดีก็ Facebook, Hi5, youtube ซึ่งหากจะแบ่งเป็นประเภทออกมาอย่างชัดเจนเลยนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะในบางตำราก็แบ่งสังคมเครือข่ายตามประเภทของเนื้อหาเช่น เป็นเนื้อหาความรู้สื่อมัลติมีเดียต่างๆ หรือแม้กระทั่งรูปภาพ

แต่ในรายงานนี้ ขอแบ่งประเภทของสังคมเครือข่ายออกตามวัตถุประสงค์ของการเข้าใช้งาน โดยสามารถแบ่งออกได้ทั้งสิ้น 7 ประเภท คือ

1. Identity Network (สร้างและประกาศ “ตัวตน”)
สังคมครือข่ายประเภทนี้ใช้สำหรับให้ผู้เข้าใช้งาน ได้มีพื้นที่ในการสร้างตัวตนขึ้นมาบน Website และสามารถที่จะเผยแพร่เรื่องราวของตนผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยประเภทของการเผยแพร่อาจจะเป็นรูปภาพ วีดีโอ การเขียนข้อความลงใน BLOG ซึ่งในสังคมประเภทนี้ สามารถที่จะสร้างกลุ่มเพื่อนขึ้นมาได้อย่างมากมาย ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ได้แก่ My Space, Hi5, Facebook



2. Creative Network (สร้างและประกาศ “ผลงาน”)
สังคมเครือข่ายประเภทนี้ เป็นสังคมที่คนในสังคมต้องแสดงออก และนำเสนอผลงานของตัวเอง ได้จากทั่วทุกมุมโลก จึงมี Website ที่ให้บริการพื้นที่เสมือนเป็น Gallery ที่ใช้จัดโชว์ผลงานของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น วีดีโอ รูปภาพ เพลง ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ Youtube, Yahoo VDO, Google VDO, Flickr, Multiply

ซึ่งในปัจจุบันการประกาศผลงานในสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ไม่ใช่แค่ทำเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่บางคนถึงขั้นโด่งดังมีชื่อเสียงเพียงชั่วข้ามคืนก็เป็นได้ อย่างเช่น สาวใหญ่ ร่างท้วมวัย 47 ปี ดูเป็นแม่บ้านธรรมดา แต่งตัวก็แสนเชย แทบไม่มีอะไรดึงดูดใจ กลายเป็นคนดังขึ้นมา ด้วยเสียงร้อง อันทรงพลัง สะกดใจคนดู และโด่งดังมีชื่อเสียงระดับโลก หลังจากที่มีผู้นำคลิปวิดีโอ การแสดงของเธอในรายการโทรทัศน์ "Britain's Got Talent" ไป Post ไว้ใน "Youtube" และปรากฏว่า มีคนคลิกเข้ามาดูมากถึง 48 ล้านครั้ง



สำหรับช่างภาพ หรือตากล้องคนไทยก็สามารถช่องทางนี้ ในการสร้างรายได้ทางธุรกิจได้เหมือนกัน เพราะหลายๆ คนก็มักจะนิยมใช้ Multiply ในการนำเสนอผลงานภาพถ่ายของตัวเอง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ติชมรูปภาพกัน และยังใช้เป็นอัลบั้มภาพออนไลน์เพื่อให้คนที่กำลังหาช่างภาพอยู่สามารถเข้ามาดูผลงาน และติดต่อภาพคนนั้นได้โดยตรง

3. Passion Network (“ความชอบหรือคลั่ง” ในสิ่งเดียวกัน)
เป็นสังคมเครือข่าย ที่ทำหน้าที่เก็บในสิ่งที่ชอบไว้บนเครือข่าย โดยเป็นการสร้าง Online Bookmarking โดยมีแนวคิดที่ว่า แทนที่ผู้ใช้จะเก็บ Bookmark ไว้ในเครื่องคนเดียว ก็นำมาเก็บไว้บน Website ดีกว่า เพื่อที่จะได้เป็นการแบ่งปันให้กับคนที่มีความชอบในเรื่องเดียวกัน สามารถใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการเข้าไปหาข้อมูลได้ และนอกจากนี้ ยังสามารถ Vote เพื่อให้คะแนนกับ Bookmark ที่ผู้ใช้คิดว่ามีประโยชน์และเป็นที่นิยม ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ del.icio.us, Digg, Zickr, duocore.tv



ทั้งนี้สำหรับ Zickr เอง ก็เป็นสังคมเครือข่าย ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคนไทย และเป็น Website ลักษณะเดียวกับ Digg แต่เป็นภาษาไทย เพื่อบริการให้กับคนไทยที่บางทีอาจติดขัดในเรื่องของภาษาอังกฤษ

4. Collaboration Network (เวทีทำงานร่วมกัน)
เป็นสังคมเครือข่าย ที่ต้องการความคิด ความรู้ และการต่อยอดจากผู้ใช้ที่เป็นผู้รู้ เพื่อให้ความรู้ที่ได้ออกมา มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง และเกิดการพัฒนาในที่สุด ซึ่งหากลองมองจากแรงจูงใจที่เกิดขึ้นแล้ว คนที่เข้ามาในสังคมนี้ มักจะเป็นคนที่มีความภูมิใจ ที่ได้เผยแพร่สิ่งที่ตนเองรู้ และทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ Wikipedia, Google Maps

ซึ่ง Website ที่โด่งดังมากอย่าง Wikipedia ซึ่งถือว่าเป็นสารานุกรม แบบต่อยอดทางความคิด ก็อนุญาตให้ใครก็ได้เข้ามาช่วยกันเขียน และแก้ไขบทความต่างๆ ได้ตลอดเวลา ทำให้เกิดเป็นสารานุกรมออนไลน์ขนาดใหญ่ ที่รวบรวมความรู้ ข่าวสาร และเหตุการณ์ต่างๆ ไว้มากมาย

นอกจากนี้ Google Maps เอง ก็ถือว่าเป็นสังคมเครือข่ายประเภทนี้ด้วย เพราะการสร้างแผนที่ของตัวเอง หรือแบ่งปันข้อมูลแผนที่ให้คนอื่นตามที่ได้มีการปักหมุดเอาไว้ ก็ทำให้คนที่เข้ามาได้รับประโยชน์ในการสืบค้นข้อมูลเหล่านั้น ซึ่งเกิดมาจากการต่อยอดแบบสาธารณะนั่นเอง



สำหรับตัวอย่างการทำงานร่วมกันอีกรูปแบบหนึ่ง ก็คือการเสนอความคิดเห็นต่อยอดกันใน Webboard อย่างในห้องเฉลิมไทย จาก Web Pantip ที่มีการเปิดโอกาสให้ คนทั่วไปมีส่วนร่วมในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “เพชรพระอุมา” ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องของบทภาพยนตร์ การคัดเลือกนักแสดง อุปกรณ์ และงานอื่นๆ ซึ่งคนทีเข้าแสดงความเห็น ก็เป็นคนที่ชอบในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งนั้น ซึ่งหากมีการพัฒนาดีๆ จากสังคมประเภทนี้ ก็จะทำให้เกิด Community of Practice หรือ CoP ได้เลย

อย่างเครื่องมือที่เรียกว่า Webboard นั้น ในหลายๆ องค์กรมีการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้เหมือนกัน เพราะไม่มีการปิดกั้นทางความคิด ทำให้คนมีอิสระในการเขียนแสดงความคิดเห็น จึงมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จนเกิดเป็นความรู้ขึ้นมา

5. Virtual Reality (ประสบการณ์เสมือนจริง)
สำหรับสังคมเครือข่ายประเภทนี้ จะเป็นสังคมที่ทำให้ผู้ใช้สร้างตัวละครขึ้นมาสมมติเป็นตัวเรา และใช้ชีวิตอยู่บนโลกไซเบอร์ และทำในสิ่งที่บางครั้งเราทำไม่ได้ในโลกจริงๆ ส่วนใหญ่สังคมประเภทนี้ จะเป็นพวกเกมต่างๆ เช่น SecondLife, World WarCraft



อย่างเช่นเกม SecondLife ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ ในโลกเสมือนจริง ผู้ใช้สามารถสร้างตัวละครโดยสมมุติให้เป็นตัวเราเองขึ้นมาได้ และใช้ชีวิตอยู่ในเกม อยู่ในชุมชนเสมือน (Virtual Community) สามารถซื้อขายที่ดิน และหารายได้จากการทำกิจกรรมต่างๆ ได้

6. Professional Network (เครือข่ายเพื่อการประกอบอาชีพ)
สังคมเครือข่ายอีกประเภท ก็คือ สังคมเครือข่ายเพื่อการงาน โดยจะเป็นการนำประโยชน์จาก Social Network มาใช้ในการเผยแพร่ประวัติผลงาน หรือ Resume ของตน โดยสามารถสร้างเครือข่ายกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือคนรู้จัก นอกจากนี้บริษัทที่ต้องการคนมาร่วมงาน ก็สามารถเข้ามาหาจากประวัติที่อยู่ในสังคมเครือข่ายนี้ได้ ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ Linkedin.com



หากจะมองให้ดีนี่ก็คือการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างหนึ่ง เพราะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตัวผู้ใช้ และตัวผู้ดูแลระบบเอง ซึ่งก็น่าจะกลายเป็นธุรกิจที่สามารถทำรายได้ในอนาคตได้ แต่คู่แข่งก็ยังมีอยู่อย่างพวก Website สมัครงานต่างๆ ก็มีอยู่เยอะพอสมควร

7. Peer to Peer (P2P) (เครือข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่าง Client)
สังคมเครือข่ายประเภทสุดท้าย เป็นสังคมเครือข่ายแห่งการเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องผู้ใช้ด้วยกันเองโดยตรง จึงทำให้เกิดการสื่อสารหรือแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และตรงถึงผู้ใช้ทันที ซึ่งผู้ให้บริการสังคมเครือข่ายประเภทนี้ ได้แก่ Skype, BitTorrent



ซึ่ง Skype เองก็เป็นโปรแกรมสนทนาผ่านอินเตอร์เน็ต ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดในมุมโลก ก็สามารถติดต่อสื่อสารแบบเห็นหน้าเห็นตาได้จากโปรแกรมนี้ หรือแม้แต่ BitTorrent ก็เป็นที่นิยมในหมู่คนที่ชอบดาวน์โหลดของฟรี จนมีอยู่ช่วงหนึ่งทำให้เกิดกระแสนิยมและมีชื่อเรียกสั้นๆ ว่าโหลดบิท แต่ทว่าเทคโนโลยีประเภทนี้ก็ส่งผลต่อเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ เพราะการโหลดบิท ในแต่ละครั้งก็เหมือนการ Copy หนังแล้วเอามาเผยแพร่ต่อนั่นเอง

จากที่กล่าวมา ก็คือสังคมเครือข่ายที่ถูกจำแนกออกมาตามวัตถุประสงค์การเข้าใช้งาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในหลายๆ ครั้งถ้าถูกนำมาใช้ในทางที่ดี ก็จะเกิดประโยชน์ต่อสังคม แต่ในบางครั้งสังคมเครือข่ายเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาไม่น้อยเหมือนกัน

ผลกระทบจากการมีสังคมเครือข่าย
จากที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า สังคมเครือข่ายนี้มีทั้งคุณและโทษ อยู่ที่การนำไปใช้ ซึ่งผู้ให้บริการเองก็คงต้องมองให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมีสังคมดังกล่าวเกิดขึ้น ว่ามีอะไรบ้าง โดยเราสามารถวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และจำแนกออกมาเป็น 3 ด้านด้วยกัน คือ
- ผลกระทบทางด้านสังคม
- ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ
- ผลกระทบทางด้านการเมือง

ผลกระทบทางด้านสังคม

สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสังคมนั้น หากมองในทางที่ดีแล้ว จะพบว่า สังคมเครือข่าย ช่วยให้การติดต่อสื่อสาร หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในสังคมใช้เวลาที่รวดเร็ว บางครั้งไม่ต้องเดินทางข้ามประเทศ เพื่อมาพบกัน ก็สามารถเจอกันได้ผ่านทางสังคมออนไลน์ อีกทั้งทำให้เกิดความอิสระในการมีเพื่อนที่มาจากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทั้งทางด้านทัศนคติ ความรู้ และวัฒนธรรมต่างๆ

ทำให้เกิดคลังความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในสังคมเครือข่าย ที่มีการต่อยอดทางความคิด กันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็พบว่ามี นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นมาจากการคุยกันใน Webboard รวมไปถึงการสร้างพลังทางสังคมที่มากขึ้น โดยจะเห็นได้จากเมื่อใดก็ตามที่สังคมเกิดปัญหาขึ้น ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็น หาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ โดยมีคนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งการรวมกลุ่มทางสังคมนี้ขึ้นมา ก็ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน และปรับปรุงประเทศต่อไป

แต่ในอีกมุมหนึ่ง จะพบว่าความสัมพันธ์ของคนในสังคมเครือข่ายนี้ เป็นความสัมพันธ์แบบฉาบฉวย ไม่ได้มีการติดต่อสื่อสารแบบเผชิญหน้ากันอย่างแท้จริง บางคนต้องการเพียงแค่เก็บจำนวนเพื่อนให้เยอะๆ เฉยๆ เพื่อนที่อยู่ในสังคมนี้จึงไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไรนัก นอกจากนี้ ข้อมูลส่วนตัวที่อยู่ในสังคมเครือข่าย ก็บอกไม่ได้ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ ทำให้ถูกมองว่าเป็นสังคมแห่งความหลอกลวง และไม่จริงใจ

การที่ไม่ต้องเห็นหน้าในการสื่อสารกัน ทำให้ในหลายๆ ครั้งผู้ใช้เองก็ขาดสติ และศีลธรรม และนำพฤติกรรมทางด้านลบที่ตัวเองอยากทำ แต่ไม่ได้ทำในโลกของความเป็นจริงมาใช้ในโลกของไซเบอร์ โดยมักใช้ข้อความในการดูหมิ่น ถากถาง หรือการ Post รูปที่ค่อนข้างอนาจารทำให้ในหลายๆ ครั้งสังคมเครือข่าย กลายเป็นแหล่งรวมของกลุ่มคนที่เป็นปัญหาทางสังคม และในท้ายที่สุด หลายๆ กรณี ก็ทำให้เกิดปัญหาทางด้านกฎหมายตามมาอีกมากมาย อย่างที่เรามักจะพบเห็นในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน

และที่เลวร้ายไปกว่านั้น ก็คือบ่อยครั้งที่ผู้ใช้เอง มักถูกล่อลวงจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยไปหลงเชื่อข้อความที่อยู่ในเครือข่ายนั้น และโดนหลอกลวงไปทำมิดีมิร้ายต่างๆ เช่น ถูกหลอกไปข่มขืน ทำร้ายร่างกาย หรือทำให้เสียชีวิต ซึ่งกลายเป็นว่าสังคมเครือข่ายเป็นต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดคดีต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสังคมเครือข่ายแม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่ก้าวเข้ามาในโลกไม่นานนัก แต่ก็ส่งผลต่อสังคมสูงมาก และถ้าองค์กรทางภาครัฐ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทางด้านสังคมไม่ได้ระวังตัว ก็จะทำให้สังคมของตัวเองต้องตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยีนี้ก็ได้

ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

สังคมเครือข่ายเป็นช่องทางในการหาข้อมูล หรือทำธุรกิจที่มีราคาถูกมาก โดยในปัจจุบันบริษัทต่างๆ ก็หันมาโฆษณาผ่านทางสังคมเครือข่ายมากขึ้น เพราะไม่เสียค่าใช้จ่าย และได้ผลรวดเร็วต่อการสื่อสารให้คนอื่นๆ ได้รับทราบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหน้าเครือข่ายไว้ที่ Facebook เพื่อประชาสัมพันธ์ และรับความคิดเห็นของลูกค้า หรือการนำโฆษณาของตนเองไป Post ไว้ที่ Youtube ซึ่งก็กลายเป็นช่องทางที่ทำให้คนเข้ามาดูมากกว่าช่องทางที่เป็นโทรทัศน์หรือวิทยุ

จากสถิติการใช้สื่อโฆษณาของอเมริกาที่จัดทำขึ้นโดย eMarketer ได้มีการใช้เงินโฆษณา ผ่านสังคมเครือข่าย เพิ่มมากขึ้นกว่า 100% จากปี 2006 เทียบกับ ปี 2007 และมีแนวโน้มที่จะใช้มากขึ้นต่อไปในอนาคต เนื่องจาก ชาวอเมริกันใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับอินเตอร์เน็ตมากกว่าทีวี หรือวิทยุ ส่วนในบางประเทศที่ถูกควบคุม และจำกัดในการโฆษณา เช่น ประเทศจีน และสิงคโปร์ ก็ยังมีการใช้สังคมเครือข่าย เป็นอีกช่องทางในการโฆษณา โดยการใช้เงินกับสื่อประเภทนี้ยังคงมีการเติบโตที่สูงมาก ซึ่งจากที่คาดการณ์ตัวเลขของปี 2006 จนถึงปี 2010 จะสูงขึ้นมากกว่า 500% ในประเทศสหรัฐอเมริกา และกว่า 600% ทั่วโลก นี่อาจจะเป็นผลมาจากเครือข่ายที่ขยายวงกว้างมากขึ้น และวิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีลูกเล่น ที่น่าสนใจทำให้ผู้ใช้ได้เข้ามาคอยติดตามกัน

สังคมเครือข่ายบางประเภทไม่ใช่เป็นเพียงแค่ Website ที่ใช้แชร์ข้อมูล รูปภาพอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ได้พัฒนามาเป็นที่แนะนำสินค้า และสถานที่ที่สามารถซื้อหาได้ หรือที่รู้จัก กันในนามของ Collaborative Shopping Communities อีกด้วย สมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายสามารถแบ่งปันเกี่ยวกับเทรนด์ที่มาแรง แฟชั่น ร้านค้าที่ฮอตฮิต ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับองค์กรต่างๆ ที่สามารถเก็บข้อมูล ความสนใจ และความต้องการของผู้บริโภคได้ตรง

จากการสำรวจ Global Shopping Insight ของบริษัทวิจัย TNS เมื่อมีนาคม 2008 รายงานว่า Social Network Shopping ดูจะเป็นที่นิยมมากในกลุ่มวัยรุ่นและผู้หญิงเพราะส่วน ใหญ่เป็นเทรนด์แฟชั่น และของสวยๆ งามๆ และหากมาดูยอดใช้บริการ Social Network Shopping ในแต่ละประเทศจีน และสเปน เป็นประเทศที่มีอัตราการใช้บริการและความสนใจ ค่อนข้างสูงกว่าประเทศอื่นๆ

ในไทยก็มีธุรกิจที่ได้มีการสร้างเครือข่ายเป็นของตัวเอง อย่างเช่น True ที่สร้าง Minihome, Happyvirus ของ DTAC และอุ่นใจช่วยได้ ของ AIS ซึ่งสามารถใช้เป็นช่องทางใหม่ๆ ที่จะใช้เป็นสื่อโฆษณาต่อไปในอนาคต หรือเป็นเครื่องมือทางการตลาดจากเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่ได้ และนอกจากนี้ ยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

องค์กรต่างๆ สามารถใช้เครือข่ายจากสังคมนี้ เป็นเครื่องมือการทำ CRM (Customer Relationship Management) ในงานประชาสัมพันธ์ทางการตลาดได้ เนื่องจากจะมีการแสดงความคิดเห็นผ่าน Website ก้อน ทำให้ทราบ Feedback ของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ การร่วมด้วยช่วยกันคิดผ่านสังคมเครือข่าย ก็ทำให้เกิดมุมมองต่างๆ เพิ่มมากขึ้น มีความคิดเห็นที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา และสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรือการดำเนินธุรกิจได้เป็นอย่างดี

แต่ในทางกลับกัน หากผู้ใช้งานเอง ไม่ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการนำเทคโนโลยีนี้ มาใช้แล้วล่ะก็จะกลายเป็นว่าวันๆ เอาแต่เล่น Hi5 Facebook โพสรูปของตัวเองเรื่อยไป งานการไม่ได้ทำ ทำให้องค์กรไม่ได้รับการพัฒนา เพราะคนในองค์กรไม่ได้ใส่ใจในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

จะเห็นได้ว่าสังคมเครือข่าย จึงมีอิทธิพลทั้งทางด้านดี และทางด้านไม่ดีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงมาก ซึ่งหากมองเห็นถึงประโยชน์สังคมเครือข่ายนี้ ก็จะถูกนำมาใช้สร้างเป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่า หากผู้ขายสามารถขายสินค้าได้ตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น และตอบรับความต้องการได้อย่างโดนใจแล้วล่ะก็ ก็ย่อมส่งผลในทางที่ดีต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน

ผลกระทบทางด้านการเมือง

สังคมเครือข่าย ถูกนำมาใช้สร้างอิทธิพลทางการเมืองสูงมาก แต่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เท่าไร จนกระทั่ง บารัค โอบามา ชนะการเลือกตั้ง เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 44 ซึ่งเขาเองก็เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมเครือข่ายขึ้น และสามารถนำมาใช้ในการหาเสียงได้เป็นอย่างดี โดยที่ Micah Sifry ผู้ร่วมก่อตั้ง BLOG การเมืองออนไลน์ของสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า techpresident.com ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า ทั้งหมดเป็นผลมาจากการที่ โอบามามีความเข้าใจเรื่องพลังแห่งเครือข่าย ที่เขาสร้างมาเพื่อสนับสนุนแคมเปญของตัวเอง ซึ่งโอบามา มีความเข้าใจเรื่องการดึงพลังร่วมขององค์กรอิสระ ที่จะช่วยสนับสนุนแคมเปญของเขาได้

นอกจากนี้ David Almacy ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมให้บริการอินเทอร์เน็ต และการสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายในทำเนียบขาวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2005 ถึงเดือนพฤษภาคม ปี 2007 มองว่า โอบามา เข้าใจแนวคิดการสื่อสารระหว่างชุมชนออนไลน์ตั้งแต่แรกเริ่ม ทำให้โอบามาเน้นการส่งข้อความ Twitter แทนที่จะตรวจหน้า Facebook อย่างเดียวทุกวัน และความเข้าใจพลังเรื่องการสื่อสารระหว่างคนหลายชุมชนนี้เองที่ทำให้โอบามาทำแคมเปญ ได้ดีกว่าแม้คู่แข่งจะใช้กลยุทธ์หาเสียงออนไลน์เช่นเดียวกัน

สำหรับในเมืองไทยเอง ก็มีการสร้างสังคมเครือข่ายขึ้นเหมือนกัน อย่างในรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น ก็มองเห็นถึงอิทธิพลจากสังคมเครือข่าย จึงมีการสนับสนุนให้ใช้Facebook และ Hi5 ในการติดต่อสื่อสารกับประชาชน ทั้งจากการนำนโยบายมาสื่อสารให้ประชาชนได้ทราบ หรือการรับข้อเสนอแนะจากประชาชนก็ตาม และบุคคลที่ได้ชื่อว่า เป็นอีกผู้หนึ่งที่นิยมชมชอบในการสื่อสารกับประชาชน ด้วยเทคโนโลยีประเภทนี้ ก็คือ คุณกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งท่านเองก็มี Facebook และ Hi5 ไว้ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ว่าในขณะนี้ รัฐบาลกำลังดำเนินงานเรื่องอะไร มีผลกระทบอะไรบ้าง และต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร โดยเปิดรับความคิดเห็นจากในเครือข่าย แน่นอนว่า ท่านเองก็ได้เข้ามาใช้งานในสังคมเครือข่ายนี้อย่างเป็นประจำทุกวัน เพราท่านรู้ดีว่ากลุ่มคนในสังคมเครือข่ายนี้ จะมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนประเทศนั่นเอง

แต่ในทางกลับกัน แม้ว่าสังคมเครือข่ายจะมีคุณประโยชน์กับภาครัฐก็จริงอยู่ แต่ในบางครั้งก็มีโทษมหันต์เหมือนกัน เพราะเนื่องจากเป็นสังคมที่ไม่มีการปิดกั้นทางความคิด ทำให้ในหลายๆ ครั้งมีการโพสกระทู้ที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงของชาติ หรือสภาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่เคยมีข่าวออกมา ก็ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวผู้โพสเอง และเจ้าของที่ให้บริการด้วย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย

สรุปได้ว่า สังคมเครือข่าย หรือสังคมออนไลน์ นั้นเปรียบเหมือนเหรียญที่มีอยู่ 2 ด้าน ซึ่งให้ทั้งประโยชน์ และโทษ ซึ่งสามารถส่งผลกระทบทั้งในระดับสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้ ซึ่งแนวทางส่งเสริมและป้องกันที่ถูกต้องนั้น ผู้ใช้งานเองจะต้องมีความรู้ในเรื่องนี้ และทราบถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากนำไปใช้ไม่ถูกทาง และที่สำคัญต้องคำนึงจริยธรรมอันดีงามด้วย นอกจากนี้ หากเราเป็นบุคคลหนึ่งในสังคมเครือข่ายแล้ว เราก็ควรจะส่งเสริมและผลักดันให้สมาชิกในสังคม ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ผิดกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อน และใช้ประโยชน์ของสังคมเครือข่ายในทางที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมามากกว่าทำลาย

ส่วนผู้ให้บริการเอง ก็จะต้องคอยควบคุมดูแล และหามาตรการในการป้องกันที่ถูกต้อง ติดตั้งระบบเพื่อกลั่นกรองข้อมูลของผู้ใช้งาน มีการวางแผนว่าจะเตรียมการรับมืออย่างไร หากเกิดปัญหาที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น และนอกจากนี้จะต้องมีวิธีในการบริหารจัดการสังคมเครือข่ายอย่างดี และสร้างความเข้มแข็งทางด้านบวกให้กับชุมชนออนไลน์ของตัวเอง และหากสุดวิสัยจริงๆ จะต้องมีกฎหมายมารองรับ เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนต่อสมาชิกในสังคมคนอื่นๆ
มุมมองเกี่ยวกับสังคมเครือข่ายในอนาคต

สำหรับ Trend ของเทคโนโลยีในอนาคตนั้น จะเป็นรูปแบบใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งระบบเองก็จะถูกออกแบบมาให้ตอบรับกับรูปแบบการใช้งานในอนาคตบ้างแล้ว เช่น ในประเทศญี่ปุ่น ก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีให้ไปสู่การเป็น Ubiquitous Computing ซึ่งทำให้การเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าได้ทุกที่ ดังนั้น หากเป็นเช่นนั้นจริง การเข้าใช้งานสังคมเครือข่าย ก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และกลายเป็นเหมือนเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน

ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือ แทบจะไม่มีการสร้างความสัมพันธ์กับคนจริงๆ อีกต่อไป เพราะไม่มีความสำคัญและจำเป็นเท่าไรนัก แต่คนจะหันไปให้ความสำคัญกับสังคมเครือข่าย หรือในออนไลน์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อใดที่เราต้องคุย สื่อสาร หรือถามความคิดเห็น เราก็จะมองหาคนในสังคมเครือข่ายอย่างเดียว จะไม่มีการโทรหาเพื่อนเพื่อปรึกษาอีกต่อไป

นอกจากนี้ เทคโนโลยีทางด้าน Mobile ก็จะเข้ามามีส่วนในการกำหนดอนาคตของสังคมเครือข่ายมากยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากการพัฒนา Application ของสังคมเครือข่ายให้รองรับกับการเข้าใช้งานในมือถือได้มากขึ้น จะเห็นได้จากมือถือ BlackBerry ซึ่งเป็นตัวอย่างของการสร้างสังคมเครือข่ายที่ชัดเจน และสำหรับ BlackBerry เองก็มีสังคมเครือข่ายที่มีชื่อว่า MyBlackBerry ซึ่งคนที่เป็นสมาชิกในสังคมนี้ ก็จะต้องใช้โทรศัพท์ BlackBerry เท่านั้น ซึ่งผู้ใช้งานเองสามารถสร้าง Profile ของตัวเอง, ถาม Community เมื่อมีปัญหา, Review Application และอื่นๆ อีกมากมาย

บทสรุป
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า Trend การใช้งานสังคมเครือข่าย หรือ Social Network นั้น จะไม่หยุดนิ่งอยู่แต่ในอุปกรณ์ที่เป็นคอมพิวเตอร์ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะมีการพัฒนา Application ให้สามารถใช้งานกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์อะไรก็ได้ที่สามารถเข้าสู่อินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้น ผู้ให้บริการ ก็คงต้องเตรียมความสามารถของ Software ให้สามารถพัฒนาตามการเคลื่อนไหวของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ รวมทั้งผู้ใช้งานหรือสมาชิกในสังคม ก็ต้องสร้างความแข็งแกร่งทางความคิด และความรู้ ให้ไม่หลงทางไปกับนวัตกรรมใหม่ๆ แต่จะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีนั้น เพื่อให้ตัวเองสามารถนำเทคโนโลยีนั้น มาใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดได้
เอกสารอ้างอิง
1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
2. Gotoknow.org คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้
3. พัฒนาสังคม...พัฒนาอะไร, ขนิฏฐา กาญจนรังสีนนท์
4. การแสวงหาความรู้ในปัจจุบัน : สังคมสื่อสาร, อ. สำราญ หม่อมพกุล
5. "The Economies of Online Cooperation: Gifts and Public Goods in Cyberspace", Peter Kollock
6. Social Networking, มหาวิทยาลัยศิลปากร
7. Social Networking กระแสใหม่กับความเป็นไปในสังคมออนไลน์, Thai Web Master Social Network
8. เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Online Social Network), ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุไรรัตน์ ทองคำชื่นวิวัฒน์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น